วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความรุนแรง (Violence)

ความรุนแรง (Violence)

ความรุนแรง เป็นพฤติกรรมหรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งทางร่างกาย วาจา จิตใจ หรือทางเพศ และนำมาซึ่งอันตรายหรือความทุกข์ทรมานต่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ความรุนแรงมีกี่ประเภท?


1. ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การทุบตีทำร้ายร่างกาย ตบ เตะ ต่อย การใช้อาวุธ เป็นต้น
2. ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การใช้คำพูด กิริยา หรือการกระทำที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าว่า ให้อับอาย การกลั่นแกล้ง ทรมานให้เจ็บช้ำน้ำใจ การบังคับ ข่มขู่ กักขัง ควบคุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น การหึงหวง การเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ การตักตวงผลประโยชน์ การถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดู เป็นต้น
3. ความรุนแรงทางเพศ เช่น การถูกละเมิดทางเพศ การพูดเรื่องลามกอนาจาร การแอบดู การจับต้องของสงวน การบังคับให้เปลื้องผ้า การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

อะไรคือสาเหตุของการใช้ความรุนแรง?

เมื่อพูดถึงสาเหตุ ต้องคิดถึงผู้กระทำความรุนแรง มิใช่ผู้ถูกกระทำ โดยทั่วไปความรุนแรงมักเกิดมาจาก

1. ลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความรุนแรง
- เป็นกมลสันดาน ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
- เลียนแบบบิดา มารดา ที่ชอบใช้ความรุนแรง ได้แบบอย่างจากหนังสือ โทรทัศน์
- ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องผิดชอบชั่วดี ครอบครัวขาดความอบอุ่น
- เจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง ทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น

2. ทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อผิดๆ ของผู้กระทำความรุนแรง ตลอดจนความเชื่อดั้งเดิมผิดๆ ที่เรียกว่ามายาคติ (myths) ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและพฤติกรรมทั้งของ ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และบุคคลอื่นๆ

- ความเชื่อบางอย่างส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง เช่น ผู้ที่มีอำนาจมีสิทธิกระทำอะไรก็ได้กับผู้ที่ด้อยกว่า ผู้ชายเป็นเพศท ี่แข็งแรงกว่าผู้หญิง ผู้ชายเป็นผู้นำผู้หญิงเป็นผู้ตาม ภรรยาเป็นสมบัติของสามี เป็นต้น
- ความเชื่อบางอย่างส่งเสริมให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้ความรุนแรง เช่น ความเมาทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่ได้ตั้งใจกระทำ เป็นต้น
- ความเชื่อบางอย่างเป็นการยอมรับให้มีการใช้ความรุนแรง เช่น ความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว น่าอับอาย คนทะเลาะกัน ผู้อื่นไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นต้น
- ความเชื่อบางอย่างส่งเสริมให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เช่น ผู้ถูกกระทำเป็นผู้ยั่วยุหรือยั่วยวน ทำหน้าที่บกพร่อง ประพฤติตัวไม่ดี เป็นต้น
- ความเชื่อบางอย่างทำให้ขาดความระมัดระวังตัว เช่น คนที่เรารู้จักจะไม่กล้าล่วงเกินทางเพศเรา คนในครอบครัวหรือ บุคคลใกล้ชิดจะไม่ทำร้ายเรา เป็นต้น
- ความเชื่อบางอย่างทำให้ขาดการเอาใจใส่คนบางกลุ่มไป เช่น ความรุนแรงเกิดขึ้นเฉพาะคนในกลุ่มที่มีฐานะยากจน เป็นต้น
- นอกจากนั้นผู้ที่ถูกกระทำบางคนไม่ทราบว่าตนเองถูกกระทำ เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องปกติ ทำให้ถูกกระทำซ้ำซาก
- บางรายมีความเชื่อผิดๆ ว่าการถูกกระทำเป็นเรื่องน่าอับอาย เป็นความผิดของตนเอง เกรงว่าถ้าผู้ปกครองหรือ อาจารย์ทราบแล้วจะถูกลงโทษ ทำให้ปกปิดเรื่องไว้ และทนต่อการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ

            3. สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความรุนแรง เช่น สื่อต่าง ๆ เป็นต้น


เรียบเรียงโดย จิราวรรณ ดีเหลือ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.nurse.cmu.ac.th/stop-d/knowledge/websara/violence.html